วันที่ 19 เม.ย. 63 ระหว่างการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ทั้งสถาบันวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัย และเอกชน กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนนี้อยู่ อย่างในศิริราชฯ
มหิดล และจุฬาฯ ซึ่งคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัทไปโอเนท-เอเชีย ได้เริ่มทดลองในสัตว์ทดลองได้แล้ว ในส่วนของต่างประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา จีน และ อังกฤษ ที่เริ่มทดสอบในคนในระยะต้นได้แล้ว
นพ.นคร อธิบายว่า การทำงานของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะพยายามเข้าสู่เซลล์ทางเดินหายใจ ดังนั้นหากต้องการให้ได้วัคซีนมาก็จำเป็นต้องกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody)เพื่อคอยป้องกันไม่ให้ไวรัสสามารถเกาะจับผนังเซลล์เพื่อเข้าไปได้ ไวรัสก็จะเสียสภาพแล้วตายไป
โดยขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งวิธีดังเดิมที่ทำให้ไวรัสเสียสภาพแล้วพัฒนาเป็นวัคซีน หรือวิธีสมัยใหม่ที่มีการสังเคราะห์ DNA หรือ RNA และสังเคราะห์จากตัวไวรัส ก่อนจะไปทดลองยังสัตว์ทดลอง ก่อนที่จะทดสอบในคน
ในการทดลองในมนุษย์นั้น จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
-ระยะที่ 1 ทดสอบความปลอดภัย ใช้ผู้ทดลอง 30-50 คน
-ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 100-150 คน เพื่อดูว่าที่พัฒนามานั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไวรัสได้หรือไม่
-ระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกันโรค ใช้ผู้ทดลอง 500 คนขึ้นไป
นพ.นคร กล่าว่า ไทยต้องทำ 2 วิธีการ คือ นำวัคซีนต้นแบบจากต่างประเทศ โดยต้องมีทำสัญญาร่วมทดลองและการทำข้อตกลงกัน ซึ่งไทยอยู่ในขั้นตอนการทำ MOU ร่วมกับจีน นี่จะเป็นหนทางเข้าถึงวัคซีนที่เร็วที่สุด พร้อมกับการพัฒนาวัคซีนต้นแบบในไทยเอง เพื่อให้มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญและพร้อมผลิตภายในประเทศ