ความเชื่อโบราณ! เผาพริก เผาเกลือ อาถรรพ์การสาปแช่งที่ควรรู้
การเผาพริกเผาเกลือ ถือเป็นพิธีกรรมความเชื่อพื้นบ้านที่พบเห็มาช้านานแล้ว โดยการนำพริกกับเกลือมาเผาหมายถึงเป็นการเกลียดชังชนิดที่เรียกว่า “ตายไปก็ไม่ร่วมเผาผีกันเลยทีเดียว”
สำหรับการสาปแช่งด้วยการเผาพริกเผาเกลือนั้นเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากชาวฮินดูโบราณปรากฏในหนังสือ “พิชัยสงครามฮินดูโบราณ” ( เรียบเรียงและแปลโดย ร้อยเอก ยี.อี.เยรินี (พันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์)
มีคำกล่าวว่า …. “ผู้ที่มีความโกรธแค้นนักกับผู้ใดๆเคยหยิบเกลือมาหยิบมือหนึ่ง ถ้าเป็นเวลาเช้าหันหน้าไปยังบูรพาทิศ กล่าวคำสาบานแช่งด่าผู้ที่ตนโกรธแค้นนั้นพอแรงแล้ว จึงรดลงน้ำที่เกลือ หมายว่าจะให้ผู้ที่เป็นศัตรูนั้นฉิบหายละลายไปดุจดังเกลือละลายน้ำ ถ้าเป็นเวลาเย็น ต้องหันหน้าไปยังประจิมทิศสาบานแช่งด่าผู้ที่โกรธนั้นเสียให้มากๆจนพอแก่ความแค้นแล้ว จึงเอาเกลือหยิบมือหนึ่งนั้นสาดเข้าในกองไฟ หวังให้ผู้เป็นศัตรูที่โกรธแค้นกันนั้น แตกประทุกระจายเรี่ยรายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆดุจดังเกลือประทุแตกระเบิดป่นไปด้วยไฟ
แต่ธรรมเนียมชาวสยามใหม่ในภายหลัง ใช้เผาพริกแห้ง เป็นการสาบานแช่งให้ร้ายแก่ผู้เป็นศัตรู หมายใจว่าจะให้ผู้ที่ตนโกรธแค้นนั้นได้ทุกข์เดือดร้อนนัก ดุจดังผู้ที่ต้องพริกแสบร้อนกระสับกระส่ายวุ่นวายในใจฉะนั้น ธรรมเนียมนี้เห็นจะสืบเนื่องมาแต่ธรรมเนียมที่ชาวฮินดูโบราณเอาเกลือมาวางที่ใบดาบและรดน้ำเกลือละลายให้สาบานนั้น”
การที่เราจะไปสาปแช่งผู้อื่นนั้นนอกจากจะเป็นการสร้างกรรมแล้ว เราเองก็ไม่สามารถบอกได้หรอกว่าผู้ที่เราสาปแช่งนั้นจะเป็นไปตามคำพูดของเราหรือไม่ ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง หากเขาไม่ดีจริงสักวันกรรมย่อมลงโทษเขาเองอยู่แล้ว อย่าไปพยาบาทเขาเลย จะยิ่งเป็นการจองเวรกันเสียเปล่าๆ