ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคทางสื่อออนไลน์
โดยแสดงเลขสารบบอาหารหรือเลขทะเบียนวัตถุอันตรายอื่น เช่น วัตถุอันตรายทางการเกษตร ปศุสัตว์ เป็นต้น อ้างว่าได้รับอนุญาตหรือผ่านการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายแล้ว ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ดังนั้น อย. จึงขอย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ใช้บนพื้นผิว ฝาผนัง วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและทางสาธารณสุข อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. ซึ่งจะต้องผ่านการประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยว่าสามารถใช้ในบ้านเรือนได้ และต้องแสดงเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย อย. วอส. บนฉลาก
“ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการนำผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายอื่นมาใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ แม้จะเป็นสารตัวเดียวกัน แต่เมื่อยังไม่ได้ผ่านการประเมินจาก อย. ก็ไม่อาจรับรองได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิววัสดุตามที่ระบุบนฉลากจริง หรืออาจทำให้พื้นผิวหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านเรือนเสียหายได้” ภญ.สุภัทรา กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ซื้อมามีประสิทธิภาพจริง นอกจากสังเกตเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์แล้ว
ขอให้สังเกตเพิ่มอีก 2 จุดสำคัญก่อนซื้อ ได้แก่
1. มีข้อความระบุว่าสามารถ “ฆ่าเชื้อโรค” “ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หรือ “ฆ่าเชื้อไวรัส”
2. มีสารสำคัญที่เป็นสารฆ่าเชื้อโรค เช่น เอทิลแอลกอฮอล์, โซเดียมไฮโปคลอไรต์, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์, คลอโรไซลีนอล, อัลคิลไดเมทิลเบนซิล, แอมโมเนียมคลอไรด์ (เบนซัลโคเนียมคลอไรด์), ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สารแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพต่อชนิดของเชื้อโรคแตกต่างกันไป โดยสามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตและสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์”
รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อให้ถูกประเภท หากนำมาใช้ในบ้านเรือนต้องสังเกตเลข อย. วอส. เท่านั้น ก่อนใช้ควรอ่านฉลากให้ละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอัตราส่วนการผสมและระยะเวลาที่ให้ผลิตภัณฑ์สัมผัสพื้นผิว หลังใช้งานควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องถ่ายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคลงในขวดหรือภาชนะบรรจุอื่นต้องติดฉลากให้ชัดเจน และเก็บในที่มิดชิด รวมทั้งไม่วางผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารไวไฟ เช่น แอลกอฮอล์ไว้ใกล้กับแหล่งที่ให้เปลวไฟหรือความร้อนเด็ดขาด หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน อย. 1556 และสามารถติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องในช่วงโควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “COVID-19” แล้วคลิกไปที่ “ข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง” หรือกดติดตามที่ “แฟนเพจเฟซบุ๊ก Fda Thai”