Monday , December 23 2024

บุคลากรการแพทย์ติดไวรัส 99 คน กว่าครึ่งติดขณะดูแลผู้ป่วย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 17 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ว่า สถานการณ์ของไทยตอนนี้อยู่ในระดับที่ดี ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเล็กน้อย ส่วนใหญ่สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในการติดตามของเราอยู่แล้ว นอกนั้นเป็นการติดจากการไปสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก อาชีพเสี่ยง ดังนั้นถือว่าประเทศไทยความเสี่ยงยังมีอยู่แต่ไม่มาก ในขณะที่ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่มี เป็นผลจากการงดเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ที่น่าเสียใจคือรายที่เสียชีวิต เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เราประกาศเตือนตลอดอยู่แล้ว คือสูงอายุ มีโรคประจำตัว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้ในจำนวนผู้เสียชีวิต 47 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติที่ 6% สูงกว่าไทย 4 เท่า แปลว่าการรักษาของไทยมีประสิทธิภาพดี แต่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย โดยในจำนวนที่เสียชีวิตพบว่าเป็นผู้สูงอายุ 20% โดยคนที่อายุมากกว่า 70 ปี เสียชีวิตถึง 12% ไม่ใช่คนไปตลาด แต่ติดจากคนที่ไปตลาด วัย 30-49 ปี เพศชายมากกว่าหญิงประมาณ 4 เท่า ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โดยเป็นโรคเบาหวานมากสุด 41% ความดันสูง 36% ไขมันในเลือดสูง 18% โรคหัวใจ 14% โรคไต 9% ภาวะอ้วน 7% และอื่นๆ 14% อาทิ โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา โรควัณโรค เอสแอลอี ตับ ปอด ถุงลมโป่งพอง แต่ก็มีบางส่วนเสียชีวิตโดยไม่มีโรคประจำตัว

“ตอนนี้ยอดการป่วยของไทยอยู่ในช่วงขาลง แต่ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตยังต้องรอดูอีก 1 สัปดาห์ ถึงจะพอบอกได้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไรก็ตาม การกลับมาใช้ชีวิตปกตินั้นต้องเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ ที่ต้องล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีคนไทยมีการสวมหน้ากากผ้ามากกว่า 95% ก็ขอให้ทำเช่นนี้ต่อไป เพราะถือว่าได้ผลดีมากกว่าวัคซีนอีก แต่ย้ำว่าต้องสวมทุกคน”นพ.โสภณ กล่าว และว่า กลุ่มบุคลากรที่ติดเชื้อฯ นั้นมีความเสี่ยง 2 อย่าง คือจากการใช้ชีวิตประจำวัน 15% และการปฏิบัติหน้าที่ 74% มี 3 ราย ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตรารักษาหายอยู่ที่ 62.5% มากกว่าหลายประเทศ และมีอัตราเสียชีวิตต่ำ แต่ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อฯ ประมาณ 99 คน บวกลบนิดหน่อย จากการศึกษาเชิงลึก บุคลากรไม่ทราบมาก่อนว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อมาก่อน ดังนั้น ขอประชาชนให้แจ้งอาการ ตามจริง ส่วนบุคลากรที่ต้องกักตัวนั้นก็มีจำนวนมาก แต่ไม่น่าจะถึงหลักพันคน และยังไม่พบว่าในจำนวนที่ถูกแยกกักนั้นมีการติดเชื้อแต่อย่างใด สำหรับกรณีสถานพยาบาลต้องปิดให้บริการบางส่วน เช่น รพ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพราะบุคลากรการแพทย์ต้องกักตัวเพราะมีผู้ป่วยไม่ยอมบอกประวัตินั้น เป็นเรื่องที่สามารถเจอได้ กรณีแบบนี้จะต้องมีการส่งบุคลากรเข้าไปเสริม แต่ก็ต้องดูว่าคนที่ถูกกักนั้นเป็นการสัมผัสเสี่ยงสูง หรือต่ำ เพราะฉะนั้นเรื่องการให้ข้อมูลสำคัญมาก ต้องไม่ปกปิด

Check Also

12 พ.ค.นี้ เชิญรับชม FB Live “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนฟรี”

12 พ.ค.นี้ สปสช. ชวนประชาชนร่วมฟังเสวนา FB Live “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทางรอดใหม่จากโควิด-19” รับทราบข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ลดความกังวลท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 รู้ถึงความจำเป็น 7 กลุ่มเสี่ยงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่