การศึกษาใหม่แนะไกด์ไลน์ “ยา – วัคซีน” ควรศึกษาการกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัส 2019 ให้ดี หลังพบสายพันธุ์รุนแรงทำลายเซลส์รุนแรงกว่าสายพันธุ์อ่อนแอกว่า 270 เท่า ส่วนผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุยังมีเรื่องที่ยัง “ไม่รู้” อีกมากเกี่ยวกับโควิด-19
งานวิจัยชิ้นใหม่โดยศาสตราจารย์ หลี่ หลานฮวง และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซีเจียง ศึกษาผู้ป่วย 11 รายจากหางโจว เพื่อศึกษาความรุนแรงของไวรัสในการติดต่อ และในการทำลายเซลส์ ค้นพบว่ามีการ “กลายพันธุ์” ของโคโรนาไวรัส 2019 ทำให้อาการรุนแรงขึ้นจริง โดยการศึกษาพบว่าสายพันธุ์ของไวรัสจากผู้ป่วยรายหนึ่งในซีเจียง เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดทั่วยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ขณะที่สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในมลรัฐวอชิงตันนั้น เป็นสายพันธุ์ที่ต่างออกไป และมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ยุโรป
อย่างไรก็ตาม เฉพาะในมลรัฐนิวยอร์ค ที่มีผู้ติดเชื้อ – ผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐฯ นั้น มีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ยุโรปอย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราความเสียหาย มากกว่ารัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ อย่างชัดเจน
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร MedRxiv.org เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นการศึกษาแรก ที่ยืนยันข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้ว่าการ “กลายพันธุ์” ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ของไวรัส ที่รุนแรงมากขึ้น และอันตรายมากขึ้น
โดยการกลายพันธุ์ สร้างความเปลี่ยนแปลงของลำดับสารพันธุกรรมบริเวณ Spike Protein ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกไวรัส ในการจับกับตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์ของมนุษย์และสัตว์ ที่เป็นโฮสต์ชัดเจน โดยการกลายพันธุ์ครั้งรุนแรง ทำให้ความสามารถในการระบาดรุนแรงขึ้น
“ก่อนหน้านี้ มีข้อสันนิษฐานจากนักระบาดวิทยาว่า การระบาดที่มีความรุนแรงแตกต่างกันทั่วโลกนั้น อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน งานวิจัยชิ้นนี้ เริ่มทำให้ข้อสันนิษฐานดังกล่าว มีน้ำหนักมากขึ้น” รายงานของ South China Morning Post ระบุ
วิธีการศึกษาของหลี่ ใช้การจัดลำดับไวรัส แบบ “ลึก” เป็นพิเศษ หรือ Ultra Deep Sequencing ซึ่งมีการลงรายละเอียดถึงรหัสพันธุกรรมของไวรัสมากกว่า 100 ครั้ง ทำให้นักวิจัย สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลง และการกลายพันธุ์ได้ละเอียดกว่าวิธีการศึกษาตามปกติ
ก่อนหน้านี้ ทีมของหลี่ พบการ “กลายพันธุ์” ของไวรัสชนิดนี้ 30 ครั้ง โดยมากกว่า 19 ครั้ง หรือ 60% เป็นการกลายพันธุ์ ที่เกิดขึ้นใหม่ และยังพบด้วยว่าสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด ที่เกิดจากการกลายพันธุ์นั้น อันตรายกว่าสายพันธุ์ที่อ่อนแอที่สุดถึง 270 เท่า โดยมีความสามารถในการทำลายเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น หลี่แนะนำในการศึกษาว่า เมื่อแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค มีสายพันธุ์ของไวรัสที่แตกต่างกัน การใช้ยา และการพัฒนาวัคซีน ก็ต้องรองรับการ “กลายพันธุ์” เหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้ ยังมีกลุ่มตัวอย่างที่น้อยมาก เพียง 11 รายเท่านั้น การศึกษาโดยมีกลุ่มตัวอย่างเกิน 100 คน อาจให้คำตอบที่แตกต่างออกไป
ทั้งนี้ จากการรายงานของสำนักข่าว People’s Daily สำนักข่าวทางการจีน ระบุว่า หลี่ ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่เสนอให้ “ล็อกดาวน์” เมืองอู่ฮั่น ซึ่งรัฐบาลจีน เชื่อคำแนะนำดังกล่าว และตัดสินใจล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ เมื่อคืนวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ WHO นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ณ ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่ถึงจุดที่แย่ที่สุด และจะมีคนป่วย – คนเสียชีวิตอีกมาก หากไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้
ทีโดรส ยังเตือนอีกด้วยว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่โลกยัง “ไม่รู้” เกี่ยวกับโควิด – 19 ทำให้หลายประเทศได้ข้อสรุป ในการจัดการการระบาดที่ผิดพลาด นำมาซึ่งปัญหา และการสูญเสียตามมา ซึ่ง ณ ขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1.66 แสนคนทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO)
คำเตือนของ WHO เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่หลายประเทศทั่วโลก เริ่มออกมาตรการผ่อนคลายการ “ล็อกดาวน์” หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มคงที่ และเริ่มลดลง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และในบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา
“การที่หลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการ “ล็อกดาวน์” อาจทำให้แรงกดดันของหลายประเทศลดลง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป ไม่ได้หมายความว่าการระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดแล้ว การป้องกันการระบาด และการป้องกัน “หายนะ” หลังจากนั้น ยังต้องการความร่วมมือของทั้งรัฐบาล และประชาชน ต่อไป” ทีโดรสระบุ
เขากล่าวอีกว่า หลักการสำคัญของการผ่อนคลายล็อกดาวน์นั้น แต่ละประเทศต้องตัดสินใจโดยพื้นฐานว่า จะสามารถตรวจจับ เทสต์ แยกตัวผู้ติดเชื้อ รวมถึงรักษาผู้ป่วยในทุกเคส และตามเส้นทางการระบาดไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคนได้
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวหาว่า WHO ส่งข้อมูลให้สหรัฐฯ ล่าช้า รวมถึงทำงานอย่างไม่โปร่งใส ทำให้สหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด จนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ว่า WHO ไม่เคยปกปิดข้อมูล และรู้ดีว่าการปกปิดข้อมูล เป็นเรื่องอันตรายร้ายแรงมาก พร้อมทั้งยังทำงานกับสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐฯ หรือ CDC อย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่วันแรกที่มีการระบาด WHO ก็แชร์ข้อมูลไปยัง CDC ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเรื่องอะไรให้ปกปิดอย่างที่ถูกกล่าวหา
เขียน : สุภชาติ เล็บนาค