จากคำแถลงนโยบายรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ในข้อที่ ๙ การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะและอนามัยให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรงและลดอัตราการเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมทั้งจัดให้มีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเหมาะสมและพอเพียง จัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึงและส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่ พัฒนาและยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจําบ้านควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์และการยกระดับคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล เพื่อให้ประชาชนในทุกครัวเรือนทุกพื้นที่โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว นั้น มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์และกลไกสำคัญของพระราชบัญญัติระบบสุขภาพภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ อย่างยิ่ง
ประการแรก การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงทุกช่วงวัยและลดการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมทั้งการจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน ตรงกับหลักการและเป้าหมายของการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค และคำขวัญที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบให้ว่า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สุขภาพแข็งแรง”
ประการที่สอง การจัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึง ตรงกับเจตนารมย์ของ พรบ.ฯ ที่ต้องการให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานในระดับปฐมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานอย่างเชื่อมโยงเป็นทีมร่วมกับทีมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พร้อมไปกับการเชื่อมโยงกับทีมสหสาขาวิชาชีพซึ่งตามปกติจะปฏิบัติงานอยู่ที่ รพ. เกือบทุกแห่ง ทั้งนี้การให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปฏิบัติงานอย่างเชื่อมโยงในลักษณะดังกล่าว จะเกิดผลดีมากกับการดูแลสุขภาพของประชาชน ในขณะที่แพทย์จบใหม่ให้ปฏิบัติงานที่ รพ. เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ซึ่งเมื่อมีประสบการณ์เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้ว จึงให้ไปปฏิบัติงานอย่างเชื่อมโยงเป็นทีมร่วมกับทีม รพ.สต. และทีมสหวิชาชีพดังกล่าว ซึ่งจะตรงกับเจตนารมณ์ ของ ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่ ตามกลไกการสร้างการมีส่วนร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามมาตรา ๓๐
ประการที่สาม การพัฒนาและการยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจําบ้านควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ ตามกลไกของ พรบ.ฯ ฉบับนี้ จะมี อสม.ร่วมเป็นคณะที่ดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เรียกว่า คณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ (ทีมหมอครอบครัว) โดยในส่วนของการใช้เทคโนโลยี กลไกของ พรบ.จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการข้อมูลสุขภาพตาม มาตรา ๒๑ ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญ ในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทุกระดับผ่าน National Digital ID เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ในทุกระดับ รวมถึงการใช้ Telemedicine หรือ Teleconsultation เพื่อใช้สื่อสารออนไลน์ในหน่วยบริการปฐมภูมิและภายในชุมชน เช่น PCC link และ Private Chat ในการดูแลประชาชน ระหว่างประชาชนกับคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือระหว่าง อสม.กับ ทีมหมอครอบครัว
ประการสุดท้าย การยกระดับคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล ให้มีศักยภาพสูงขึ้นนั้น ตรงกับกลไกของระบบระบบสุขภาพปฐมภูมิ มาตราที่ ๓๐ ที่กำหนดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีความสามารถเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การพัฒนาคุณภาพซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า รพ.สต.ติดดาว เพื่อใช้ในการประเมินคุณภาพและได้มีการขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา หรือ การให้มีแพทย์ลงไปปฏิบัติงานที่ รพ.สต.เพื่อการเชื่อมโยงและลงดูแลประชาชนร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพที่เรียกว่า ทีมหมอครอบครัว
จากความสอดคล้องทั้ง ๔ ประการ ข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา หากมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยคณะกรรมระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน แล้ว ย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้เขียน : นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ